OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

81 Trans-(parent) House จากบ้านทรงกล่องเต็มผืนที่ดิน สู่การเปลี่ยนถ่าย สร้างความโปร่งใสที่สวยงามเหนือกาลเวลา

ที่ผ่านมาเรามีโอกาสสำรวจบ้านมากมายหลายหลังที่มีแนวคิดน่าสนใจแตกต่างกัน ทั้งบ้านที่นำธรรมชาติเข้ามารับบทสำคัญ บ้านที่แสดงตนโดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุ หรือบ้านที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และบริบทของพื้นที่ แต่สำหรับ 81 Trans-(parent) House โจทย์ของการออกแบบเริ่มต้นขึ้นด้วยความต้องการ ‘สร้างบ้านเต็มพื้นที่ดิน’ จากรูปทรงของอาคารที่เรามักจะเห็นการบิด ถอดรูป หรือใช้เส้นสายเข้ามาทำให้เกิดรูปฟอร์มต่างๆ บ้านหลังนี้จึงแตกต่างด้วยบ้านโมเดิร์นทรงกล่องที่ถูกบรรจุลงไปเต็มผืนที่ดิน ด้วยฝีมือการบรรจงร้อยเรียงสเปซเป็นสถาปัตยกรรมผ่าน 3 แนวคิดหลัก Transition (การเปลี่ยน)  Transparent (โปร่งใส) และ Timeless (เหนือกาลเวลา) จากทีมสถาปนิก TOUCH Architect

บ้านกล่องเต็มพื้นที่ ที่รักษาความ Privacy ให้มากที่สุด

เมื่อขยับขยายมาซื้อบ้านเป็นของตนเอง ในย่านราชพฤกษ์ ซึ่งมีที่ดินราคาค่อนข้างสูง ความต้องการของเจ้าของบ้านจึงมาพร้อมความคุ้มค่า ที่ทุกสเปซในการออกแบบจะต้องใช้ประโยชน์ได้สูงสุด รวมถึงจัดวางให้เต็มพื้นที่ดิน ประกอบกับการที่ทั้งคู่มีอาชีพเป็นคุณหมอและเจ้าของกิจการส่วนตัว ซึ่งต่างก็ใช้เวลาส่วนมากของวันไปกับการทำงาน บ้านหลังนี้จึงต้องตอบสนองในเรื่องการดูแลรักษา ความเรียบง่ายของการอยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการใช้ต้นไม้และพื้นที่สีเขียว เพื่อประหยัดเวลาในการดูแลรักษา
แน่นอนว่าโจทย์และข้อจำกัดไม่จบลงเพียงเท่านั้น เมื่อได้มีโอกาสไปดูหน้าไซต์จริง ทางทีมสถาปนิกจึงพบว่า บริบทโดยรอบทั้งสามด้านของที่ดินล้วนติดกับบ้านหลังอื่นๆ ซึ่งสร้างเต็มพื้นที่เช่นเดียวกัน อีกทั้งถนนบริเวณหน้าบ้านยังหันเข้าสู่ทิศตะวันตกที่จะพาความร้อนเข้าสู่บ้านโดยตรง สิ่งที่เกิดเป็นความท้าทายจึงกลายเป็นการร้อยเรียงสเปซทั้งหมด ให้คุ้มค่าเต็มที่ดิน ในขณะที่ยังต้องรักษาความเป็นส่วนตัวจากบ้านหลังอื่นๆ รวมถึงหลบหลีกสภาวะอากาศที่จะรบกวนการอยู่อาศัย

“อันนี้คือโจทย์ที่เราต้องนำมาผสมกับโจทย์จากทางเจ้าของ และคิดขึ้นมาเป็นแมสรูปทรงอาคาร หรือแม้แต่สเปซของตัวบ้าน ตรงนี้มันทำให้บ้านหลังนี้ต่างจากหลังอื่นๆ เราต้องหาฟังก์ชันอะไรสักอย่างมาเป็นตัวป้องกันแดดทางด้านหน้าบ้าน เพราะทางเจ้าของเขาไม่อยากให้ใช้ต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวเป็นตัวกรองแสงเลย” คุณเอฟ-เศรษฐการ ยางเดิม สถาปนิกเล่า

Push & Pull The Box การประนีประนอมของสเปซและรูปทรงอาคาร

‘ต้องการบังแดดแต่ไม่อยากดูแลต้นไม้ อยากได้ความเป็นส่วนตัวแต่ก็ต้องการบ้านเต็มพื้นที่ดิน’ โจทย์เหล่านี้เป็นเหมือนปมผูกมัด ที่รอให้ทีมสถาปนิกเข้ามาแก้ไข จากแมสอาคารเต็มพื้นที่แบบ Solid Square ทีมสถาปนิกจึงเลือกที่จะดึงพื้นที่ที่ไม่จำเป็นออกบางส่วน และนำพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมๆ เข้าไปแทนที่ เพื่อเพิ่มระบบระบายอากาศให้เกิดขึ้นภายในตัวบ้าน

ส่วนปัญหาของแสงแดดทางทิศตะวันตก สถาปนิกนำห้องนอน ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ทางเจ้าของบ้านใช้งานน้อยที่สุดในเวลากลางวัน มาเป็นตัวกรองแสง และยอมปล่อยให้พื้นที่โดนแดดโดยตรงในช่วงบ่าย
ภาพแสดงแนวคิดบ้าน 81 Trans-(parent) House
ภาพตัดสแดงแนวคิดบ้าน  81 Trans-(parent) House

“ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านเขาแทบจะไม่ได้ใช้ห้องนอนเลย เพราะเขาเป็นคนทำงานทั้งวัน กลับมานอน ตื่นแล้วก็ออกไปทำงาน เราเลยยอมเอาห้องนอนเป็นตัวป้องกันแดดให้กับบ้าน ในขณะที่นำฟังก์ชันอื่นๆ ที่เขาใช้งานเป็นหลักอย่างพื้นที่นั่งเล่น หรือบันไดไปอยู่บริเวณกลางบ้านแทน” สถาปนิกเล่าเสริม

บริเวณหน้าบ้าน ฟังก์ชันเรียงตัวจากลานจอดรถก่อนเข้าสู่ทางเข้าหลักตามแบบบ้านทั่วไป แต่สถาปนิกเลือกปรับทิศทางของ Main Entrance ให้หันหน้าเข้าสู่อีกทิศหนึ่งแทน เพื่อแบ่งให้พื้นที่เป็นสัดส่วนจากบริเวณลานจอดรถอย่างชัดเจน ด้านซ้ายมือของทางเข้ามีฟังก์ชันเป็นห้องรองเท้า ซึ่งเป็นความต้องการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของทางเจ้าของ
ภาพแปลนชั้น 1 และชั้น 2 บ้าน 81 Trans-(parent) House

ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ไฮท์ไลท์อย่างคอร์ดพื้นที่สีเขียวกลางบ้านที่ออกแบบด้วยหน้าต่างบานหมุนขนาดใหญ่ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน เชื้อเชิญให้ผู้มาเยือนมองเห็นบรรยากาศของต้นไม้ที่พลิ้วไหว และสัมผัสลมธรรมชาติที่พัดผ่านเข้าสู่บ้านได้อย่างสดชื่น คอร์ดในส่วนนี้ยังทำหน้าที่บดบัง ฟังก์ชันอื่นๆ ที่อยู่ด้านหลัง เพื่อให้เห็นพื้นที่ในบ้านได้บางส่วน ตรงกับแนวคิดและชื่อบ้าน Transparent ที่สามารถเปิดมุมมองให้เห็นทะลุซึ่งกันและกันได้ หรือจะปิด สร้างความส่วนตัวก็ทำได้เช่นกัน
ห้องนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหารและ Pantry ถูกจัดวางในลักษณะ Open Plan ที่เชื่อมโยงเป็นสเปซเดียวกัน ขนาบข้างด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมๆ ที่แต่งแต้มบรรยากาศการพักผ่อนให้สมบูรณ์มากขึ้น และยังช่วยบดบังสายตาจากบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

ด้วยความที่ในอนาคต คุณแม่อาจจะมีการย้ายมาอยู่อาศัยด้วยกัน บริเวณด้านหน้าบ้านของชั้น 1 จึงออกแบบเป็นพื้นที่ห้องนอนของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เป็นเสมือนยูนิตส่วนตัวที่เชื่อมโยงกับสวนด้านข้างได้อย่างสะดวกสบาย “สเปซทั้งบ้าน เราต้องการให้มันมีการเปลี่ยนถ่ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง สามารถเชื่อมต่อ เชื่อมโยงกันได้ง่าย บ้านหลังนี้เลยออกมาเป็น Open Plan รวมถึงมีพื้นที่ Shortcut ต่างๆ ที่สามารถเดินต่อได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องวกไปวนมา รวมถึงโถงบันไดซึ่งเป็น Transition ในแนวตั้งด้วย” คุณภาพิศ ลีลานิรมล สถาปนิกเล่า
ในขณะที่เรามองเห็นบ้านทรงกล่อง ปิดทึบเต็มพื้นที่จากภายนอก ภายในกลับเต็มไปด้วยแสงสว่างจากคอร์ดเอาท์ดอร์ รวมถึงเปิดให้ลมธรรมชาติได้ไหลผ่าน โถงบันไดที่เชื่อมต่อกับคอร์ดกลางบ้านทำหน้าที่เป็น Transition ที่เชื่อมระหว่างภายนอกและภายใน รวมถึงเชื่อมพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 2 เข้าไว้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

เมื่อเดินขึ้นสู่ชั้น 2 ทางเดินรอบคอร์ดจะทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถดื่มด่ำกับความเป็นธรรมชาติได้ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่พักผ่อนส่วนตัว อีกทั้งยังมี Double Volume ที่เปิดโล่งให้เห็นพื้นที่ห้องนั่งเล่นบริเวณชั้น 1 ทางเดินล้อมคอร์ดที่ถูกตัดขาดจากฟังก์อื่นๆ ยังกลายเป็นเส้นทาง Shortcut สำหรับแขก ซึ่งในบางครั้งอาจแวะเวียนเข้ามาสังสรรค์และมีการค้างคืน ทำให้ห้องนอนแขก และฟังก์ชันการใช้งานของเจ้าของบ้าน ไม่ปะปนกัน และสร้างความเป็นส่วนตัวได้มากที่สุด

Timeless เหนือกาลเวลา ด้วยวัสดุที่เน้นการดูแลรักษา

อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน ค่อนข้างเป็นคนทำงานหนักที่ไม่ค่อยมีเวลา วัสดุทั้งภายในและภายนอกจึงสะท้อนโจทย์เหล่านี้ ผ่านความเรียบง่าย และการดูแลรักษาง่ายมากที่สุด ฟาซาดภายนอกออกแบบเป็นระแนงซี่เล็ก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว สถาปนิกจึงต้องเลือกใช้วัสดุที่ยากต่อการบิด หรือโก่ง ซึ่งสุดท้ายมาลงตัวที่อลูมิเนียมลายไม้ตามฟิลลิงความเป็นไม้ที่ทางเจ้าของชื่นชอบ เช่นเดียวกับ รั้วหน้าบ้านที่มีการดีไซน์แพทเทิร์นให้ต่อเนื่องโดยใช้วัสดุเดียวกัน และยังทำให้รั้วหน้าบ้านมีน้ำหนักเบากว่าปกติ ส่วนภายในเน้นการใช้วัสดุเรียบง่ายอย่างพื้นไวนิล และกระเบื้อง
“ในเรื่องของ Timeless เรามองว่ามันเป็นไฮท์ไลท์ภาพรวมของบ้าน สถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัยที่ดี มันจะต้องตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย เขาอยู่แล้วเขาต้องแฮปปี้ มันต้องเป็นฟังก์ชันที่ลงตัวกับชีวิตเขา พอมันตอบโจทย์กับเขาได้อย่างพอดี มันก็จะ Timeless และอยู่ไปได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องอินเทรนด์แปปหนึ่ง แล้วก็ตกกระแสไป” สถาปนิกกล่าว

เพราะบ้านเป็นความต้องการเฉพาะของผู้อยู่อาศัย จึงไม่จำเป็นเลยที่ต้องพยายามแสดงตัวตนให้เหมือนใครๆ เพียงแต่เข้าใจและตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัยเท่านั้นก็เป็นพอ 81 Trans-(parent) House หลังนี้จึงถูกออกแบบมา เพื่อทำความเข้าใจและปรับแต่งสเปซให้ลงตัวกับความเป็นอยู่ ลักษณะนิสัย และอนาคตของเจ้าของ เพื่อให้สมาชิกทั้งหมดของครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นตัวเอง
Location : The Blisz ถนนราชพฤกษ์ กรุงเทพฯ
Site Area : 424 sq.m.
Floor Area : 520 sq.m.
Owner : นริสา และฐากร สถิตรักษ์วงศ์
Principal Architect : เศรษฐการ ยางเดิม และภาพิศ ลีลานิรมล TOUCH Architect
Architect : พิชญา ติยะพิษณุไพศาล  ธัชกร จำเรียง และสุภานัน ตั้งสัจจานุรักษ์  TOUCH Architect
Civil Engineer : ชิตติณัฐ วงศ์มณีประทีป
Contractor : OKCON
Photograph : เฉลิมวัฒน์ วงษ์ชมภู Sofography