OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

 FARMSUP HOUSE บ้านขนาดพอดีที่ปลีกตัวจากบทบาทคนเมืองออกมาฟังเสียงธรรมชาติในสวนเกษตร

ในวันที่วิถีคนเมืองเริ่มอิ่มตัว ความสงบเงียบท่ามกลางธรรมชาติคือสิ่งที่หลายคนตามหา คุณศุภ – ศุภรัฐ ทิมจันทร์ และ คุณปู – ชลียา วามสิงห์ ต่างก็คิดเช่นเดียวกัน ก่อนจะหลบหลีกวิถีชีวิตที่วุ่นวายออกมาสร้างวันที่แสนเรียบง่ายในบ้าน FARMSUP แถบชานเมืองจังหวัดปทุมธานี โดยได้สถาปนิกคนสนิทอย่าง คุณเบนซ์ – ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ จาก I like design studio มาเป็นผู้ออกแบบความพอดีและเชื่อมโยงความเรียบง่ายที่แตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว

แนวคิดของบ้าน FARMSUP เริ่มต้นจากการจับพลัดจับผลูหันมาลองทำสวนเกษตร บนที่ดินแปลงเก่าขนาด 2 ไร่ ของคุณพ่อ ก่อนจะขยายแนวคิดออกมาเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจในเวลาต่อมา คุณปูเล่าว่า “คอนเซปต์ตั้งต้นที่เราคิดไว้หลักๆ คืออยากให้เป็น Tiny House หรือบ้านเล็กบ้านน้อยที่สามารถตอบโจทย์ฟังก์ชันของเราทั้งสองคนได้อย่างเหมาะสม และด้วยที่เราเป็นอินทีเรียเราจึงลองร่างแบบคร่าวๆ เพื่อจัดวาง Layout ให้ชัดเจนว่าตัวเราเองต้องการอะไรและพี่ศุภต้องการอะไรบ้าง อย่างพี่ศุภก็ชอบทำสวนและเราก็ชอบมานั่งชิลล์ในวันหยุด ดังนั้นฟังก์ชันของบ้านจึงน่าจะออกมาเป็นกึ่งๆ บ้านพักตากอากาศที่อยู่ท่ามกลางสวนเกษตรหรือธรรมชาติ”

สองไลฟ์สไตล์ที่เชื่อมต่ออยู่ภายใต้ผืนหลังคาจั่วเดียวกัน

หลังจากคุณปูร่าง Layout จนได้สเปซอย่างที่ใจต้องการ สถาปนิกหรือคุณเบนซ์จึงรับไม้ต่อเพื่อนำมาเรียบเรียงให้ลงตัวยิ่งขึ้นร่วมกับการรับฟังความต้องการของผู้อยู่อาศัยทั้งคู่ สัดส่วนของสองไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจึงได้ถูกแบ่งให้ฝั่งหนึ่งของตัวบ้านเป็นส่วนวิลล่าตากอากาศขนาดพื้นที่ใช้สอย 100 ตารางเมตร ที่ประกอบไปด้วย ห้องนอนบนชั้นลอย แพนทรี่ ห้องน้ำ และพื้นที่นั่งเล่น พร้อมกับเฉลียงข้างตัวบ้านที่ถูกออกแบบให้เป็นเดคยื่นออกไปทั้งสองฝั่ง เพื่อเป็นมุมพักผ่อนอีกมุมหนึ่งของคุณปู

ภาพแปลนแสดงพื้นที่ตัวบ้าน

ภาพแปลนแสดงพื้นที่ชั้นลอย

ขณะที่ฝั่งซ้ายของบ้านเป็นโรงนากรุด้วยเมทัลชีตสำหรับเก็บอุปกรณ์การเกษตรของคุณศุภ ซึ่งทั้งสองส่วนยังถูกเชื่อมกันด้วยคอริดอร์ที่ให้ความรู้สึกไม่ห่างเหินหรือแปลกแยกออกจากกัน และทำให้บ้านหลังคาจั่วชั้นเดียวหลังนี้มีช่องเปิดที่เอื้อให้ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปได้อย่างคล่องตัวตามธรรมชาติ

ภาพแปลนแสดงโครงหลังคาเมทรัลชีต

“อยู่ง่าย กินง่าย” ความพอดีที่ผู้อยู่อาศัยได้รับจากบ้าน FARMSUP

เพื่อให้ตัวบ้านสามารถอยู่ได้อย่างง่ายและอยู่สบายภายใต้บริบทโดยรอบ สถาปนิกจึงได้ยกพื้นส่วนรากฐานให้สูงขึ้นมาราว 1.20 เมตร เพื่อเลี่ยงน้ำท่วม และทำให้บ้านดูคล้ายกับลอยอยู่บนเกาะหรือบ่อที่ได้ถูกขุดล้อมขึ้นมาถมเป็นพื้นที่สำหรับสร้างตัวบ้านตั้งแต่แรกเริ่ม เลือกใช้วัสดุง่ายๆ และสร้างบ้านแบบไม่ซับซ้อนเพื่อให้ประหยัดงบประมาณ อย่างหลังคาเมทัลชีตโครงสร้างเหล็ก แผ่นยิปซัมฉาบเรียบใส่ฉนวนกันความร้อนสำหรับกรุผนัง และไม้เทียมสำหรับงานปิดผิวด้านนอก อีกทั้งยังวางตำแหน่งของตัวบ้านและส่วนนั่งเล่นให้ขวางทิศทางลม เหนือ-ใต้ เอาไว้เพื่อให้ตัวบ้านอยู่สบาย ถ่ายเทอากาศได้ดีและเกิดการหมุนเวียนของลมตลอดทั้งวันคุณปูขยายความถึงความพอดีของบ้านหลังนี้ว่า “พอเราเป็นอินทีเรียเราจะรู้ว่าวงการนี้มีของถูกโล๊ะทิ้งจากบ้านรีโนเวทเยอะมาก เราเลยเห็นคุณค่า แล้วหยิบบางชิ้นที่จัดวางได้ลงตัวพอดีกับสเปซของบ้านมา Reuse ใช้อีกครั้ง ซึ่งก็มีอยู่หลายจุดเหมือนกัน อย่างเก้าอี้ไม้พยุงส่วนนั่งเล่นก็นำมาขัดสีใหม่และบุเบาะผ้าให้ดูน่ารัก หน้าต่างบานเปิดและบานเฟี้ยมก็เป็นของลูกค้าที่รีโนเวทบ้านแล้วไม่ได้ใช้ต่อ”

แม้แต่ม่านภายในบ้านก็ยังเป็นม่านปลายไม้ที่คุณปูไปตามคัดซื้อมาจาก Outlet ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าม่านคุณภาพดีที่เหลือใช้จากงานตกแต่งภายในของโรงแรม หากคุณปูไม่หยิบมา Reuse ประยุกต์ใช้อีกครั้ง ผ้าที่สวยงามเหล่านี้ก็ต้องกลายเป็นเศษผ้าที่ถูกนำไปทิ้งในวันหนึ่ง ถึงแม้การนำผ้าเหลือตัดมาใช้จะมีลวดลายหรือสีของผ้าไม่เหมือนกันไปบ้าง แต่คุณปูก็เน้นเลือกโทนที่สามารถทำให้ดูกลมกลืนกันได้อย่างลงตัวและน่าสนใจความพอดีที่เกิดขึ้นภายในบ้าน FARMSUP จึงเป็นความพอดีที่แสนเรียบง่ายจากหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่วัสดุโครงสร้างที่สถาปนิกเลือกใช้ ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุตกแต่งอื่นๆ ที่นำมา Reuse ซึ่งทำให้งบประมาณการสร้างบ้านอยู่ในวงจำกัดที่ตั้งไว้ได้อย่างพอดิบพอดี และยังได้บ้านสไตล์โมเดิร์นที่แฝงไปด้วยความอบอุ่น

สถาปนิกเสริมว่า “ผมเชื่อว่างานดีไซน์หรือการออกแบบบ้านสักหลัง บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงหรือมีราคาสูงเสมอไป การเอาของที่ไม่ได้ใช้ มาผสมผสานกันให้ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย ที่ทำให้เขาสามารถอยู่ในพื้นที่นี้ได้อย่างสบายและมีความสุข อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณด้วย ผมว่าทุกคนก็จะแฮปปี้ ซึ่งก็รวมถึงตัวผมเองด้วย”

วิธีอยู่บ้านให้มีความสุข

เพราะคุณศุภและคุณปู คือผู้ที่ค้นพบแล้วว่าความสุขและความต้องการของตัวเองนั้นคืออะไร แต่ละวันเราทำอะไรกันบ้าง เรานอนแค่ไหน ส่วนไหนจำเป็นต้องมี และส่วนไหนไม่จำเป็นต้องใช้ รูปแบบของบ้านจึงได้ถูกตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยอย่างตรงไปตรงมาภายในบ้านหลังขนาดกระทัดรัด ที่ยังสะท้อนแนวคิดของเจ้าของบ้านกับการดำรงชีวิตได้แบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน จากการทำสวนเกษตรเล็กๆ ปลูกผักบ้าง ตกปลากินเองบ้าง ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือความสุขและความเรียบง่ายที่คนเมืองหลายคนก็กำลังตามหาเช่นกัน

“ผมเคยอ่านเจอในอินเตอร์เน็ตอยู่ประโยคหนึ่งพูดว่า การออกกำลังกายก็คือการออกกำลังกาย แต่การทำสวนคือการออกกำลังกายแต่คุณได้มะเขือเทศ ผมเลยคิดว่านี่เป็นวิถีทางที่ดี ก็เลยลองมาทำอะไรแบบนี้ โดยเริ่มจากทดลองง่ายๆ ไปก่อน ค่อยๆ เฟดชีวิตถอยจากในเมืองมาเรื่อยๆ ถ้ายังมีความวุ่นวายเข้ามาเราก็จะค่อยๆ ถอยออกไปอีก (หัวเราะ) เพราะผมไม่ชอบความวุ่นวาย ไม่ชอบความแออัด ไม่รู้ว่าจะต้องไปแย่งกันใช้ชีวิตทำไม” คุณศุภทิ้งท้ายเชื่อว่าธรรมชาติและความเรียบง่ายยังคงอยู่ใกล้ๆ ตัวเราและค้นหาได้ไม่ยาก หากแต่เราใฝ่หาและทำความเข้าใจกับตนเองว่าแท้จริงแล้วในทุกๆ วัน เรานั้นต้องการอะไร บ้านควรมีขนาดใหญ่แค่ไหน สิ่งใดสามารถลดหรือเพิ่มเข้ามาในการใช้ชีวิตของเราได้บ้าง เมื่อพบสิ่งนั้นแล้วก็คงจะพบวิถีของความสุขในรูปแบบของตนเองเช่นกัน เช่นเดียวกับบ้าน FARMSUP บ้านที่เต็มเปรี่ยมไปด้วยความสุขของสองผู้อยู่อาศัยภายใต้ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างแต่เชื่อมเข้าหากันด้วยแนวคิดของความพอดีได้อย่างลงตัว

Location : ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
Gross Built Area : 100 ตารางเมตร
Owner : คุณศุภ – ศุภรัฐ ทิมจันทร์ และ คุณปู – ชลียา วามสิงห์
Architect : I like design studio